Posted in Diary

ชุมชนเก่า: เรื่องของบ้านหรือเรื่องของคน

วันนี้ไม่ได้มาแปะฟิคค่ะ แค่อยากมาบ่นเรื่องความคิดเล็ก ๆ น้อย ๆ ของเราที่อยากระบายเนื่องมาจากความเครียดเล็ก ๆ ที่ได้เห็นมาจากเพจบางเพจที่โพสต์เรื่องการไล่ที่ชุมชนป้อมมหากาฬ เห็นแล้วมันอดไม่ได้ค่ะ สักนิดเถอะ ฮา

อันนี้เราพิมพ์ระบายไว้ในเฟซบุ๊คค่ะ แต่ตั้งค่าเป็นส่วนตัวไว้ แต่ไป ๆ มา ๆ ก็คิดว่าเอามาเรียบเรียงใหม่แล้วลงที่นี่ด้วยดีกว่า เผื่อใครผ่านไปมาจะได้เห็น (จะมีรึเปล่าหว่า ฮา) มันอาจไม่ถูกต้องทั้งหมด เพราะส่วนใหญ่เป็นความคิดเห็นส่วนตัว ถ้ามีข้อผิดพลาดก็ขอโทษด้วยนะคะ แล้วก็บอกไว้ก่อนค่ะ เราไม่สนับสนุนและคัดค้านการไล่ที่ชุมชนป้อมมหากาฬนะคะ เพราะเราไม่รู้ว่าจริง ๆ แล้วมันมีอะไรอย่างไรกันแน่ ขอแค่พูดถึงความสำคัญและความเข้าใจเกี่ยวกับชุมชนเก่าที่หลาย ๆ คนเข้าใจผิดก็พอค่ะ

ในความคิดของเราชุมชนเก่ามันมีความสำคัญตรงที่เรื่องราวที่สืบทอดมาค่ะ มันมีประวัติความเป็นมายังไง มันบอกอะไรได้บ้าง นั่นเป็นเสน่ห์ของชุมชนเก่าที่ชุมชนเมืองไม่มี แล้วอาคารบ้านเรือน สถาปัตยกรรม ไม่ว่าจะเป็นบ้านไม้ ตึกแถวเก่า ๆ มันคือองค์ประกอบหนึ่งของชุมชน เป็นส่วนหนึ่งในการบอกเล่าเรื่องราวของชุมชนเหล่านั้น แต่ว่านะคะ บ้านอาคารพวกนั้นมันไม่มีปาก พูดไม่ได้ เพราะฉะนั้น “คนในชุมชน” ที่อาศัยสืบทอดกันมารุ่นต่อรุ่นต่างหากที่จะสามารถบอกเล่าเรื่องราวให้พวกเราได้เรียนรู้
.
หลาย ๆ คนอาจเข้าใจว่าการศึกษาของเก่าแก่ทั้งโบราณสถาน โบราณวัตถุ เอกสารเก่า ภาพเก่าต่าง ๆ คือเป้าหมายของวิชาประวัติศาสตร์และโบราณคดี ก็ไม่ผิดค่ะ แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะความจริงแล้วประวัติศาสตร์และโบราณคดีมันคือเรื่องราวของคนค่ะ ความเป็นมาของคน พัฒนาการในด้านต่าง ๆ เช่น เทคโนโลยี วิถีชีวิต หรือที่อาจเรียกได้ว่า งานโบราณคดีและประวัติศาสตร์มีเป้าหมาย คือ การศึกษาให้เข้าใจพัฒนาการทางวัฒนธรรมของมนุษย์ที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละยุคสมัยว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร มีลักษณะอย่างไร หรือมีการเปลี่ยนแปลงไปเมื่อไหร่ เพราะอะไร ดังนั้นโบราณสถาน โบราณวัตถุ เอกสารเก่า จดหมายเหตุ ฯลฯ ต่าง ๆ นั้นจึงเป็นองค์ประกอบ เป็นสิ่งที่ช่วยในการศึกษาพัฒนาการที่กล่าวมาแล้วข้างต้นค่ะ มรดกทางวัฒนธรรมทั้งหลายแหล่ไม่ว่าจะเป็นอยุธยาหรือสุโขทัยที่เป็นมรดกโลกก็ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ช่วยให้เราเข้าใจประวัติความเป็นมาของคนมากขึ้นทั้งนั้นค่ะ เพราะโบราณสถานและโบราณวัตถุ รวมไปถึงเอกสารตำราเก่า คือ สิ่งที่สะท้อนวิธีคิด ความเชื่อ วิถีชีวิตของคนในยุคนั้น ๆ ที่แสดงออกมาเป็นรูปธรรม เป็นสิ่งของที่มองเห็นและจับต้องได้ ถ้าเราไม่นำของเหล่านั้นมาคิดวิเคราะห์ เชื่อมโยงกับคนในอดีต เราก็รู้มันอยู่แค่ว่า หน้าตาอาคารนี้เป็นไง มีเจดีย์กี่องค์ในวัด พระอุโบสถเขียนภาพจิตรกรรมอะไรบ้างเท่านั้น เราจะไม่ได้คิดว่าเขาสร้างของพวกนี้เพื่ออะไร ทำไมถึงใช้วิธีสร้างแบบนี้ แล้วของเหล่านี้มันส่งผลต่อคนอย่างไร แล้วถ้าเป็นแบบนั้น มันจะไปบรรลุเป้าหมายที่ต้องการจะทำความเข้าใจวัฒนธรรมในแต่ละยุคและพัฒนาการทางวัฒนธรรมได้ยังไงล่ะคะ จริงมั้ย
.
ไม่ต่างอะไรกับชุมชนเก่าแก่นั่นแหละค่ะ ไล่คนออกเหลือแต่บ้านเปล่า ๆ ให้คนเข้าไปดู เราจะมองเห็นวิถีชีวิตของเขามั้ย แล้วมันตอบโจทย์เป้าหมายทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีรึเปล่าที่ต้องการรู้เรื่องวิถีชีวิตของคนในอดีต คุณอาจบอกได้ว่าเรื่องราวพวกนั้นมันก็อยู่กับคนที่ย้ายออกไปนั่นแหละ ไปถามเขาเอาก็ได้ ใช่ค่ะ มันยังอยู่ในความทรงจำของคนที่ย้ายออกไปที่คุณอาจไปถามพวกเขาทีหลังได้ พวกเขาก็สามารถเล่าให้คุณฟังได้ แต่คุณจะเห็นภาพจริง ๆ มั้ย แล้วคุณจะสามารถตามไปถามพวกเขาที่ไม่รู้ว่ากระจัดกระจายหายไปไหนกันหมดแล้วได้มั้ย ถึงทำได้ มันก็ยากมากจริงมั้ยคะ
.
จริงอยู่วิถีชีวิตปัจจุบันของคนในชุมชนเก่าหลายแห่งมันเปลี่ยนไปหมดแล้ว เป็นทุกที่แหละค่ะ โดยเฉพาะกับชุมชนในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพที่แต่เดิมครั้งหนึ่งเคยเป็นสวน เป็นป่ารกชัฏ เวลาทำให้หลาย ๆ สิ่งเปลี่ยนไปค่ะ แต่สิ่งหนึ่งที่มันยังไม่เปลี่ยนคืออะไรรู้มั้ยคะ มันคือเรื่องเล่า มันคือภาพความทรงจำของคนเก่าแก่ในชุมชนที่ตกทอดมาจากคนเฒ่าคนแก่สู่เด็ก ๆ จากปู่ย่าตายายถึงลูกหลานเหลนค่ะ เวลาคุณลงไปคุยกับคนในชุมชนเก่าพวกนี้ เขาจะชี้บอกคุณได้เลยว่านั่นเคยเป็นโน่น นี้เคยเป็นนี่ ตรงนั้นเคยเป็นคลอง ตรงโน้นเคยเป็นบ้านเจ้าพระยา ถึงจะไม่ใช่คนร่วมสมััยแต่เป็นลูกหลาน ตอนเราคุยกับเขา เรายังเคยได้ยินประโยคประมาณว่า “เนี่ย ตรงนั้นน่ะนะเคยเป็นสถานีรถไฟ สมัยแม่ของป้าเด็ก ๆ เคยไปขายของอยู่ตรงนั้นด้วยนะ แม่เขาเล่าให้ฟัง” แล้วแบบนี้จะยังเรียกได้อยู่หรือคะ ว่าคนในปัจจุบันที่อยู่ต่อมาจากปู่ย่าตายายไม่สำคัญกับชุมชนเก่าพวกนั้นน่ะ
.
อีกอย่างที่สำคัญแต่คนมักไม่นึกถึงคือประเพณี ภูมิปัญญาชาวบ้าน หรือพวกการละเล่น อาหารต่าง ๆ ค่ะ มันเป็นส่วนหนึ่งในการศึกษาคนในอดีตนะ เพราะแต่ละท้องที่มรดกทางวัฒนธรรมพวกนี้ก็จะแตกต่างกันไป อาจจะขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม อาจจะขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ หรือคนในชุมชน โดยของพวกนี้มันตกทอดกันมาในชุมชนค่ะ ตัวอย่างก็เช่น เคยได้ยินเรื่องกระบี่กระบองในชุมชนวัดดุสิดารามมั้ยคะ นั่นก็เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่น่าสนใจมากนะ หรือถ้าจะให้ง่ายกว่านี้ ก็มวยไทยนี่ล่ะค่ะ ถ้าสมมุติ ย้ำนะคะ ถ้าสมมุติประเทศไทยหายไป คนไทยกระจัดกระจายกันไปก็เอามวยไทยไปด้วย แต่มันก็จะหายไปได้ง่าย ๆ ถ้าไม่มีคนไทยบางกลุ่มรวมตัวกันสนับสนุน เช่นเดียวกันกับพวกประเพณี วัฒนธรรมภายในชุมชนเก่าค่ะ ถ้าชุมชนหายไปของพวกนี้มันจะกระจัดกระจายไปอยู่ที่อื่นตามที่คนในชุมชนย้ายไป และด้วยจำนวนคนที่น้อยกว่า หากไม่ได้อยู่ด้วยกันเป็นกลุ่มมันก็มักจะหายไปด้วย อาจเพราะปัจจัยหลาย ๆ อย่าง มรดกตกทอดพวกนี้น่ะสำคัญนะคะ ถ้าหากมีการจัดการที่ดี มันสามารถเอาไปสร้างรายได้อะไรได้ไม่ต่างจากโบราณสถานที่เก็บค่าเข้าชมเลยสักนิด แล้วของแบบนี้ถ้าไม่มีคน มันจะอยู่ได้เหรอคะ
.
ความคิดของเราอาจไม่ตรงกับความคิดของใครหลาย ๆ คน มันเป็นมุมมองของเราในฐานะคนที่เรียนโบราณคดีเป็นวิชาเอกมาตลอดสี่ปี และตอนนี้ก็ยังวนเวียนอยู่กับงานโบราณคดี เราอาจจะเข้าใจอะไรบางอย่างผิด ๆ ก็ได้ แต่มันเป็นสิ่งที่เราคิดเสมอเวลาที่เราลงพื้นที่คุยกับชาวบ้านในชุมชนค่ะ เราพูดตรง ๆ ว่าเราอยากให้หลาย ๆ คนได้ลองมองในมุมอีกมุมหนึ่งบ้าง ชุมชนเก่าไม่ได้มีเพียงบ้านเก่า ๆ คนก็เป็นองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญมาก และอาจจะสำคัญที่สุดในชุมชนด้วยซ้ำ ที่ทำให้ชุมชนเกิดขึ้นและขับเคลื่อนให้วิถีชีวิตในชุมชนดำเนินต่อไปได้ เพราะฉะนั้นถ้าไม่มีคน เราจะยังเรียกว่าชุมชนได้อีกหรือคะ